ไทย เคบายา

เคบายา เป็นเสื้อของสตรีพื้นเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และภาคใต้ของประเทศไทย ยังเป็นที่นิยมในบางพื้นที่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์และกัมพูชา เป็นเสื้อคลุมตัวนอกมีชายเสื้อเปิดด้านหน้าไม่นิยมใส่กระดุมแต่จะยึดด้วยเข็มกลัดเดี่ยวตามช่องหรือพวงเข็มกลัดแม่ลูกที่เรียกว่า “โก่สั้ง” สวมใส่กับผ้าถุงปาเต๊ะ ชาวมลายูจึงนิยมเรียกว่า “ซารอง เคบายา(Sarong Kebaya)” เคบายานิยมตัดเย็บด้วยเนื้อผ้าชนิดต่างๆที่ให้น้ำหนักเบาสวมใส่สบายและดูสง่างาม ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลูกไม้ผ้าเนื้อโปร่ง มักประดับตกแต่งด้วยงานปัก ฉลุ ด้วยเคบายาเป็นที่นิยมสวมใส่ในหลากหลายชุมชนเป็นพื้นที่กว้างและสืบทอดยาวนานกันมากว่า ๓๐๐ ปี เคบายาในแต่ละชุมชนจึงได้มีการพัฒนาสร้างสรรค์ก่อเกิดวิวัฒนาการที่แตกต่างกันได้หลายรุ่นหลายรูปแบบ

ภูเก็ตฉลอง “ต้มยำกุ้ง – เคบายา” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และสมาคมเพอรานากัน ประเทศไทย เเละชาวภูเก็ตนับพันคนร่วมเฉลิมฉลองการได้รับประกาศ “ต้มยำกุ้ง” เเละชุดเเต่งกาย “เคบายา” ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ พร้อมต่อยอดเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างงาน สร้างรายได้ เสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพิ่มเติม

กำเนิดและวิวัฒนาการของเคบาย่า

โดยยังมีข้อห้ามต่อสตรีบางกลุ่ม ด้วยประสงค์ให้สามารถแบ่งแยกชาติพันธุ์ในที่สาธารณะได้ เคบาย่าจึงสวมใส่เฉพาะหมู่สตรีพื้นเมืองชาวอินโดนีเซียและชาวยุโรปเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๓ (ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๕) ได้มีประกาศของผู้ปกครองในมลายูอนุญาตให้สตรีเพอรานากันที่มีฐานะสวมใส่ชุดเคบาย่าได้ สตรีเพอรานากันไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการแต่งกายในสังคมดั่งสตรีมุสลิม จึงดัดแปลงแบบชุดเคบาย่าให้ใช้เนื้อผ้าโปร่งบางสวมใส่สบาย มีชายเสื้อหดสั้นลงและรัดรูปเข้าเอวสะโพกมากขึ้น รวมถึงประดับตกแต่งชุดเคบาย่าด้วยลวดลายความเชื่อแบบจีนมาผสมผสานลวดลายผ้าลูกไม้จากยุโรป เคบาย่าแบบสั้นเริ่มเป็นที่นิยมและก่อเกิดเคบาย่าชนิดต่างๆตามมา

เคบาย่าเป็นเสื้อที่ตัดจากผ้าเนื้อบาง โปร่ง   ไม่มีกระดุม แต่กลัดด้วยชุดกระดุมเข็มกลัดที่เรียกว่า หรือ  “โก่สั้ง (Kerongsang)” รุ่นแรกๆจะมีแขนเสื้อยาวถึงข้อมือ  ปัจจุบันสตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมเรียกเคบาย่าสำหรับรุ่นที่ชายเสื้อด้านล่างยาวระดับเอว แต่มีชายแหลมยาวเลยลงมาต้นขา   เคบาย่านิยมใส่เป็นเสื้อคลุมตัวนอก  สวมเสื้อตัวในหรือชุดชั้นในขนาดใหญ่ไว้ด้านในก่อเกิดมิติของศิลปะ    เคบาย่ามีวิวัฒนาการหลากหลายแบบในแต่ละพื้นที่  อย่างไรก็ตามชุดต้นแบบคือ  ชุดครุยยาว ( Baju Panjang) ก็ยังได้รับนิยมตัดเป็นชุดเจ้าสาวและสวมใส่ในผู้สูงอายุ 

เคบาย่ากำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ ๑๖ ชาวโปรตุเกสที่เป็นผู้นำบุรุษได้สวมเสื้อคลุมยาวเรียก Caba หรือ Cabaya เผยแพร่ชุดนี้มายังอินเดีย เมื่อโปรตุเกสยึดเมืองกัว(Gao)ในปี พ.ศ.๒๐๕๓ และยึดมะละกาในปี พ.ศ.๒๐๕๔ จึงนำชุดนี้มาเผยแพร่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคนั้นเป็นที่นิยมสวมใส่ทั้งบุรุษและสตรี

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวมุสลิมในแหลมมลายูได้ประดิษฐ์ชุด Baju Kurung ที่มีชายยาวปกปิดร่างกายมิดชิดเป็นที่นิยมในหมู่สตรีมุสลิมจนเป็นชุดประจำชาติของมาเลเซียในปัจจุบัน ราวศตวรรษที่๑๗ เมื่อเนเธอแลนด์ได้เปิดเส้นทางสินค้าผ้าลูกไม้จากยุโรปผ่านอินเดียมายังมลายู สตรีชาวยุโรปที่มาอาศัยในคาบสมุทรมลายูเริ่มใช้ผ้าฝ้ายเนื้อบางและมีการนำลายลูกไม้(Lace) เข้ามาประดับตกแต่ง ช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ สตรีชาวดัตช์นิยมสวมใส่ชุดเคบาย่าเนื้อบางจากผ้าฝ้ายสีขาวผสมผสานลายลูกไม้กับผ้าถุงที่ผลิตในแถบมลายู

เคบาย่าในประเทศไทย

สตรีสยามเริ่มปฏิรูปการแต่งกายอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มในสตรีชั้นสูงที่ตัดเสื้อผ้าแบบยุโรป ประดับขอบเสื้อด้วยผ้าลูกไม้  ขณะที่สตรีทั่วไปยังนิยมนุ่งกระโจมอก หรือไม่สวมเสื้อ  ทางภาคใต้ฝั่งอันดามันสตรีที่ร่ำรวยโดยเฉพาะพวกเพอรานากันในภูเก็ต พังงา  ตรัง ระนอง กระบี่ สตูล  ได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากเมืองปีนังที่ขณะนั้นอยู่ในอาณัติอังกฤษ และเป็นคู่ค้าแร่ดีบุกและยางพาราที่สำคัญกับสยามผ่านทางเรือ  เสื้อเคบาย่าจึงเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายังสยามอันดามัน รวมถึงผ้านุ่งปาเต๊ะ  ผ้าเช็ดหน้าและเครื่องประดับที่ไว้สวมคู่กัน  ในสมัยนั้นสตรีแถบอันดามันของสยามยังนิยมใช้เสื้อตัวในที่มีแขนยาวมาสวมใส่โดยไม่ต้องมีชุดครุยยาวมาคลุม  เสื้อตัวในส่วนใหญ่สีขาวหรือสีอ่อนเรียกกันว่า “ชุดคอตั้งแขนจีบ” ด้วยมีปกคอตั้งสูง กลัดกระดุมทองหรือ “กิ่มตู้น” แขนยาวปลายจีบที่ข้อมือ คาดเข็มขัดรอบเอวที่ทำจากโลหะมีค่า และถุงเงินถุงทอง

บางท่านเหน็บกุญแจพวงใหญ่แสดงฐานะเจ้าของบ้านหรือเจ้าของกิจการใหญ่ ชุดคอตั้งแขนจีบเป็นที่นิยมตราบจนปัจจุบัน เพราะสวมใส่สบาย ไม่ร้อน และสง่างาม  ไม่จำเป็นต้องเกล้าผมเช่นครุยยาว  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองการติดต่อระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยและเมืองปีนังได้ขาดช่วงไประยะหนึ่ง หลังสงครามโลกราวปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาตามหลักสากลตะวันตก มีการรณรงค์สวมหมวกและเสื้อแบบฝรั่ง นุ่งผ้าถุง สตรีแถบอันดามันของไทยเปลี่ยนชุดแต่งงานเป็นชุดราตรีกระโปรงยาวแบบฝรั่ง เรียกว่า “ชุดบุ่นเบ๋ง”  ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกระหว่างภาคใต้สู่กรุงเทพมหานครพัฒนาขึ้น  สตรีอันดามันได้เลือกซื้อผ้าลูกไม้จากย่านสำเพ็ง แล้วนำไปเย็บต่อทั้งตัว รูปทรงยังคล้ายเสื้อเคบาย่า เกิดชุดที่มีวิวัฒนาการใหม่เรียกว่า “ชุดลูกไม้ต่อดอก” สวมใส่กับเสื้อชั้นในตัวใหญ่สีเดียวกัน ชายเสื้อเทียมเอว มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว ปัจจุบันยังเป็นที่นิยมสวมใส่ออกนอกบ้านของสตรีที่สูงอายุในแถบอันดามันของไทย

รูปภาพ