ทำไมเคบายาได้รับรองจากยูเนสโก

ในปีพ.ศ.๒๕๖๗นี้ถือเป็นปีทองของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการพิจารณามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ( Intangible Cultural Heritage) ขององค์การยูเนสโก ประกาศให้ ทั้ง “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ  สำหรับ “ต้มยำกุ้ง” ถือเป็นรายการลำดับที่ ๕ ของไทย ต่อจาก โขน(๒๕๖๑) นวดไทย(๒๕๖๒) โนรา(๒๕๖๔) สงกรานต์(๒๕๖๖)   การได้ “ต้มยำกุ้ง”ในปี พ.ศ.๒๕๖๗ ถือเป็นสองปีติดของไทยกันที่น้อยประเทศจะได้รับ   ต้องชื่นชมความขยันของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมที่ท่านได้พยายามติดตามและบรรจุใบสมัคร ที่ปรึกษาใหญ่ของทีมงานคือท่านอาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตเล่าเบื้องหลังว่ามีบางประเทศถอนตัว เราได้เลื่อนจากสำรองขึ้นมาพิจารณาและทีมงานก็ปรับข้อเสนอตามยูเนสโกทัน ถือว่าทั้งโชคของประเทศและฝีมือของทีมข้าราชการไทยที่ควรชื่นชม

ส่วน “เคบายา” ท่านหัวหน้าคณะที่เดินทางไปร่วมประชุมยูเนสโกที่ปารากวัยที่ผ่านมาคือท่านวราพรรณ ชัยชนะศิริ   รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ท่านได้กล่าวในการเสวนาวันเฉลิมฉลองแล้วว่า “เคบายา” ถือเป็นการนับหนึ่ง เพราะอยู่ในกลุ่มมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ประเภท “มรดกร่วม( Shared Heritage)” ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของชาวอาเซียนที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในการร่วมกันนำเสนอ ท่านสาวิตรีกล่าวว่าคณะกรรมการชื่นชมการนำเสนอของกลุ่ม ๕ ประเทศ เพราะสามารถนำวัฒนธรรมเสื้อผ้ามาร่วมกันเขียนให้เกิดความสอดคล้องกลมเกลียวทั้งที่เมื่อพิจารณาก็จะมีจุดแตกต่างกันอยู่บ้างตามธรรมชาติของความหลากหลายชุมชนวัฒนธรรม  จริงแล้วนอกจาก ๕ ประเทศ “เคบายา”ยังมีสวมใส่ในเขมร พม่า ฟิลิปปินส์ด้วย แต่ยังไม่สามารถประสานให้มาร่วมกันนำเสนอได้ ก็ยังคาดหมายว่าจะเชิญมาร่วมกิจกรรมในอนาคต เราก็จะได้เพื่อน ได้มุมมองและองค์ความรู้ให้เก็บเกี่ยวอีกมาก

กว่าจะเสนอ “เคบายา” ให้ได้มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น มีการทำงานเบื้องหลังมากมายทีเดียว ทีมงานร่วมห้าประเทศทำงานกันตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๔ นับว่า ๓ ปีอย่างน้อย เริ่มจากการพูดคุยกันในผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมแต่ละประเทศ หาคนที่มีความรู้ของแต่ละที่ ซึ่งตรงนี้โชคดีว่าสมาคมเพอรานากันมีการประชุมนานาชาติร่วมกันทุกปี จึงทราบว่าใครเชี่ยวชาญด้านเคบายาบ้าง มีทั้งการประสานส่วนตัว การประชุมออนไลน์ การประชุมสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการร่วม ความพร้อมที่ไม่เท่ากันเรื่องงบประมาณ การขออนุมัติจากรัฐบาล และความแตกต่างอื่นๆเป็นเรื่องรองของคณะทำงานที่เปิดใจกว้างว่าขอเสนอร่วมกันให้ได้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จ  มีการล่าเอกสารแสดงความยินยอม( Inform consent )จากเจ้าของชุมชนต่างๆกันให้ได้มากที่สุด การจัดทำหมวดหมู่ร่วมกัน การจัดกรอกข้อมูลตามใบสมัครของยูเนสโกก็มาแบ่งกันเขียน คำถามที่อนุญาตให้กรอกไม่เกิน ๑,๐๐๐คำ ก็แบ่งกันคนละ ๒๐๐คำ แล้วช่วยกันตรวจทาน นับว่ากลมเกลียวกันดี ท้ายสุดหลายท่านคงจะเห็นในภาพข่าวว่าทีมห้าประเทศเกาะกลุ่มกันตลอด ในการประชุมที่ปารากวัย ร่วมกันแสดงความยินดีกับความสำเร็จเป็นภาพที่หาได้ยากสำหรับกลุ่มประเทศต่างๆ

การได้รับประกาศครั้งนี้ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่ภารกิจยังมีอีกมากให้ทุกท่านได้สานต่อ อย่างน้อยถือเป็นการปักหมุดหมายสำคัญสำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษเราได้สร้างสรรค์ ที่เรียกว่า “เคบายา