
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ องค์การยูเนสโกได้ประกาศโปรแกรมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ( Intangible Cultural Heritage) ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ ทักษะ และธรรมเนียมปฏิบัติต่อมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่างๆ แตกต่างจากโครงการแหล่งมรดกโลก( World Heritage ) ที่เน้นการปกป้องสถานที่ สิ่งก่อสร้างหรือแหล่งธรรมชาติที่สำคัญของชาติ ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ประเทศไทยได้ประกาศการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ทำให้หลายท่านยังสับสนว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับ ICH เราลองมาพิจารณากันทีละประเด็น
๑.นิยาม
ICH หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนมีการคงอยู่จากอดีตจนร่วมสมัยปัจจุบัน มีจุดร่วมก้าวข้ามชุมชน รุ่นสู่รุ่น เป็นสายใยประสานสังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยความรับผิดชอบว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คุณค่าของ ICH อยู่ที่องค์ความรู้ ทักษะ ธรรมเนียมการปฏิบัติที่ถ่ายทอดกันมา คนในชุมชนต้องตระหนักในการปกป้องสืบสานด้วยตนเอง
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ( Intangible Cultural Heritage) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้ให้นิยามว่า หมายถึง ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม
พิจารณาจากนิยามก็มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่มากกว่าแตกต่างกัน
๒. คุณค่าความสำคัญ
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ให้คุณค่าเกี่ยวกับ
๑. การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และ พื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น
๒. ซึ่งชุมชน กลุ่มชนและในบางกรณีปัจเจกบุคคล ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน
๓. ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง
๔. เป็นสิ่งที่ชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นใหม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน
๕. เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน เกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง
๖. ก่อเกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ส่วนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้คุณค่าเกี่ยวกับ
๑.ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติหรือทักษะ ทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ
๒.ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชนยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน
๓. และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง
๔.โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน
สังเกตว่าหัวข้อ ๑ ถึง ๔ คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระดับยูเนสโกจะเพิ่มหัวข้อเรื่อง ธรรมชาติประวัติศาสตร์ความต่อเนื่อง และ สิทธิมนุษยชน เข้ามา
๓.ประเภท
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกได้แบ่งประเภทเป็น ๑.ศิลปะการแสดง(performing arts) ๒.งานช่างฝีมือดั้งเดิม(the knowledge and skills to produce traditional crafts) ๓.ธรรมเนียมการสื่อสารด้วยวาจา(oral traditions) ๔.แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล(social practices, rituals, festive events) ๖.ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรววาล (knowledge and practices concerning nature and the universe)
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทยเรา แบ่งประเภทเป็น ๑.ศิลปะการแสดง ๒.งานช่างฝีมือดั้งเดิม ๓.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ๔.การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู่ป้องกันตัว ๕.แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล ๖.ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (ผู้เขียนขออนุญาตเรียบเรียงหัวข้อใหม่เพื่อเปรียบเทียบกันง่ายขึ้น)
ประเภทคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่ ประเทศไทยจะเพิ่มเติมการเล่นพื้นบ้านมาอีก ๑ หัวข้อ
โดยสรุปมรดกทางวัฒนธรรมทั้งระดับชาติและนานาชาติมีความหมายคล้ายคลึงกันมาก ทำให้ประเทศไทยสามารถถ่ายโอนมรดกชาติเพื่อเข้าพิจารณาประกาศขององค์การยูเนสโกได้โดยสะดวก