เคบาย่า คืออะไร?
เคบาย่าเป็นเสื้อของสตรีพื้นเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และภาคใต้ของประเทศไทย ยังเป็นที่นิยมในบางพื้นที่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์และกัมพูชา เป็นเสื้อคลุมตัวนอกมีชายเสื้อเปิดด้านหน้าไม่นิยมใส่กระดุมแต่จะยึดด้วยเข็มกลัดเดี่ยวตามช่องหรือพวงเข็มกลัดแม่ลูกที่เรียกว่า “โก่สั้ง” สวมใส่กับผ้าถุงปาเต๊ะ ชาวมลายูจึงนิยมเรียกว่า “ซารอง เคบาย่า(Sarong Kebaya)” เคบาย่านิยมตัดเย็บด้วยเนื้อผ้าชนิดต่างๆที่ให้น้ำหนักเบาสวมใส่สบายและดูสง่างาม ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลูกไม้ผ้าเนื้อโปร่ง มักประดับตกแต่งด้วยงานปัก ฉลุ ด้วยเคบาย่าเป็นที่นิยมสวมใส่ในหลากหลายชุมชนเป็นพื้นที่กว้างและสืบทอดยาวนานกันมากว่า ๓๐๐ ปี เคบาย่าในแต่ละชุมชนจึงได้มีการพัฒนาสร้างสรรค์ก่อเกิดวิวัฒนาการที่แตกต่างกันได้หลายรุ่นหลายรูปแบบ
ศัพทมูลวิทยา
เคบาย่า (Kebaya) สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “Qaba” เป็นภาษาอาหรับระบุในพจนานุกรมฮอบสันจาคอบในปี พ.ศ.๒๔๒๙ แปลว่า “เสื้อ” เดิมเป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า “เสื้อแห่งเกียรติ” ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ชาวโปรตุเกสใช้คำว่า “Cabaya” ในการเรียกเชือกเส้นยาวของชาวมุสลิม ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาปกครองแหลมมลายูเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลสู่อินเดียและอาหรับ ได้นำวัฒนธรรมการสวมเสื้อคลุมยาวมาเผยแพร่ที่ต่อมาเรียกเป็นภาษามลายูว่า “Kebaya”
กำเนิดและวิวัฒนาการของเคบาย่า
เคบาย่ากำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ ๑๖ ชาวโปรตุเกสที่เป็นผู้นำบุรุษได้สวมเสื้อคลุมยาวเรียก Caba หรือ Cabaya เผยแพร่ชุดนี้มายังอินเดีย เมื่อโปรตุเกสยึดเมืองกัว(Gao)ในปี พ.ศ.๒๐๕๓ และยึดมะละกาในปี พ.ศ.๒๐๕๔ จึงนำชุดนี้มาเผยแพร่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคนั้นเป็นที่นิยมสวมใส่ทั้งบุรุษและสตรี
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวมุสลิมในแหลมมลายูได้ประดิษฐ์ชุด Baju Kurung ที่มีชายยาวปกปิดร่างกายมิดชิดเป็นที่นิยมในหมู่สตรีมุสลิมจนเป็นชุดประจำชาติของมาเลเซียในปัจจุบัน ราวศตวรรษที่๑๗ เมื่อเนเธอแลนด์ได้เปิดเส้นทางสินค้าผ้าลูกไม้จากยุโรปผ่านอินเดียมายังมลายู สตรีชาวยุโรปที่มาอาศัยในคาบสมุทรมลายูเริ่มใช้ผ้าฝ้ายเนื้อบางและมีการนำลายลูกไม้(Lace) เข้ามาประดับตกแต่ง ช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ สตรีชาวดัตช์นิยมสวมใส่ชุดเคบาย่าเนื้อบางจากผ้าฝ้ายสีขาวผสมผสานลายลูกไม้กับผ้าถุงที่ผลิตในแถบมลายู โดยยังมีข้อห้ามต่อสตรีบางกลุ่ม ด้วยประสงค์ให้สามารถแบ่งแยกชาติพันธุ์ในที่สาธารณะได้ เคบาย่าจึงสวมใส่เฉพาะหมู่สตรีพื้นเมืองชาวอินโดนีเซียและชาวยุโรปเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๓ (ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๕) ได้มีประกาศของผู้ปกครองในมลายูอนุญาตให้สตรีเพอรานากันที่มีฐานะสวมใส่ชุดเคบาย่าได้ สตรีเพอรานากันไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการแต่งกายในสังคมดั่งสตรีมุสลิม จึงดัดแปลงแบบชุดเคบาย่าให้ใช้เนื้อผ้าโปร่งบางสวมใส่สบาย มีชายเสื้อหดสั้นลงและรัดรูปเข้าเอวสะโพกมากขึ้น รวมถึงประดับตกแต่งชุดเคบาย่าด้วยลวดลายความเชื่อแบบจีนมาผสมผสานลวดลายผ้าลูกไม้จากยุโรป เคบาย่าแบบสั้นเริ่มเป็นที่นิยมและก่อเกิดเคบาย่าชนิดต่างๆตามมา
เคบาย่าเป็นเสื้อที่ตัดจากผ้าเนื้อบาง โปร่ง ไม่มีกระดุม แต่กลัดด้วยชุดกระดุมเข็มกลัดที่เรียกว่า หรือ “โก่สั้ง (Kerongsang)” รุ่นแรกๆจะมีแขนเสื้อยาวถึงข้อมือ ปัจจุบันสตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมเรียกเคบาย่าสำหรับรุ่นที่ชายเสื้อด้านล่างยาวระดับเอว แต่มีชายแหลมยาวเลยลงมาต้นขา เคบาย่านิยมใส่เป็นเสื้อคลุมตัวนอก สวมเสื้อตัวในหรือชุดชั้นในขนาดใหญ่ไว้ด้านในก่อเกิดมิติของศิลปะ เคบาย่ามีวิวัฒนาการหลากหลายแบบในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามชุดต้นแบบคือ ชุดครุยยาว ( Baju Panjang) ก็ยังได้รับนิยมตัดเป็นชุดเจ้าสาวและสวมใส่ในผู้สูงอายุ
เคบาย่าชนิดต่างๆ
Baju Panjang ชุดต้นแบบเคบาย่า
ชุดต้นแบบ Baju Panjang Baju แปลว่า“เสื้อ” Panjang แปลว่า“ยาว” ไทยเรียกชุด “ครุยยาว”จัดเป็นเคบาย่าแบบยาวเลยเข่าลงมาระดับแข้งเว้นประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตรให้เห็นชายผ้าถุงและรองเท้าปักแสดงลวดลายสวยงามที่เข้ากัน เคบาย่าจะเป็นเสื้อคลุมตัวนอกทำจากเนื้อผ้าจะใช้ผ้าทึบหรือโปร่งก็ได้แต่ให้มีน้ำหนักเบา ด้านในจะสวมชุดคอตั้งแขนจีบที่มีเนื้อผ้าบางปกคลุมชุดชั้นใน ชุดครุยยาวมักมีคอรูปตัววี ทำให้คอเสื้อตัวใน(คอตั้งแขนจีบ)ที่นิยมเป็นสีอ่อนโผล่ขึ้นโดยรอบคอประมาณ ๔-๕ เซนติเมตรแสดงความสุภาพ แขนเสื้อยาวถึงข้อมือ ขอบเสื้อบางชิ้นอาจจะตกแต่งด้วยริบบิ้นขนกระต่าย กลัดด้านหน้าด้วยกระดุมโกสังตัวใหญ่กลัดระดับคอตรงมุมตัววี ตัวลูกก็ไล่ลงระดับอก บางท่านอาจสวมใส่สร้อยคอร่วมด้วย ผู้สวมใส่ชุดนี้จะนิยมทำผมชะอีโบย สวมมงกุฎดอกไม้ไหวหรือสวมมงกุฎไข่มุก เหน็บต่างหู นิ้วสวมแหวน ถือผ้าเช็ดหน้า สวมรองเท้าปักด้วยลูกปัดหลากสีสัน ชุดครุยยาวนิยมสวมใส่ในสตรีสูงวัยที่ภูมิฐานและเป็นชุดสำคัญของเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน
ต่อมาสตรีเพอรานากันได้ปรับแบบชุดครุยยาวให้ชายเสื้อสั้นลงเทียมเอวโดยรูปลักษณ์ส่วนอื่นยังคงเช่นเดิม เรียกว่าชุด “ครุยสั้น”หรือ“ครุยท่อน” เครื่องประดับที่เด่น แสดงให้เห็นก็คือ เข็มขัดรอบเอว และ ถุงเงินถุงทองที่คาดห้อยติดกัน แสดงให้เห็นฐานะความร่ำรวยของสตรีผู้สวมใส่ ยังแสดงความงดงามของผ้าถุง หรือ ปาเต๊ะได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงให้ความคล่องตัวยามเคลื่อนไหวมากขึ้น ชุดครุยท่อนเป็นที่นิยมอย่างมากของสตรีแถบอันดามันของประเทศไทย ในยุค พ.ศ.๒๔๕๐-๗๐ ช่วงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นสมุหเทศาภิบาล จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗
ยุคของชุดเคบาย่ามลายู
ในประเทศอินโดนีเซียเมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ ๑๙ สตรีชาวดัตช์เจ้าอาณานิคมได้ตัดเย็บเคบาย่าสั้นระดับสะโพกประดับด้วยผ้าลูกไม้จากยุโรป ถือเป็นชุดของสตรีในหมู่คนชั้นสูงเท่านั้น ต่อมามีการอนุญาตจากเจ้าอาณานิคมให้สตรีเพอรานากันสวมใส่ชุดเคบาย่าได้ สตรีเพอรานากันจึงได้นำเสื้อเคบาย่ามาปรับโครงสร้างชุดให้รัดรูปและสั้นลงเทียมเอว เนื้อผ้าโปร่งบาง ชายเสื้อด้านล่างทำให้แหลมยาวลงมาถึงต้นขา สวมใส่กับผ้าถุงปาเต๊ะ เกิดการนำลวดลายมาเพิ่มเติมจากเพียงลายลูกไม้ที่สตรีดัตช์ตัดเย็บด้วยการนำลายฉลุมาประดิษฐ์ประดอยเพิ่มให้เกิดความสวยงามและมีมงคล เรียกว่า Kebaya Encim (สตรีเพอรานากันจีน) ถือเป็นต้นแบบของเคบาย่ายุคใหม่แล้วได้เกิดการเรียกเคบาย่ายุคต่อมาตามลักษณะการประดับตกแต่ง หรือสถานที่ที่ให้กำเนิดลวดลาย ได้แก่ Kebaya Sulam , Kebaya Biku ,Kebaya Renda , Kebaya Keranchang , Kebaya Kerawang เป็นต้น
เคบาย่าในประเทศไทย
สตรีสยามเริ่มปฏิรูปการแต่งกายอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มในสตรีชั้นสูงที่ตัดเสื้อผ้าแบบยุโรป ประดับขอบเสื้อด้วยผ้าลูกไม้ ขณะที่สตรีทั่วไปยังนิยมนุ่งกระโจมอก หรือไม่สวมเสื้อ ทางภาคใต้ฝั่งอันดามันสตรีที่ร่ำรวยโดยเฉพาะพวกเพอรานากันในภูเก็ต พังงา ตรัง ระนอง กระบี่ สตูล ได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากเมืองปีนังที่ขณะนั้นอยู่ในอาณัติอังกฤษ และเป็นคู่ค้าแร่ดีบุกและยางพาราที่สำคัญกับสยามผ่านทางเรือ เสื้อเคบาย่าจึงเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายังสยามอันดามัน รวมถึงผ้านุ่งปาเต๊ะ ผ้าเช็ดหน้าและเครื่องประดับที่ไว้สวมคู่กัน ในสมัยนั้นสตรีแถบอันดามันของสยามยังนิยมใช้เสื้อตัวในที่มีแขนยาวมาสวมใส่โดยไม่ต้องมีชุดครุยยาวมาคลุม เสื้อตัวในส่วนใหญ่สีขาวหรือสีอ่อนเรียกกันว่า “ชุดคอตั้งแขนจีบ” ด้วยมีปกคอตั้งสูง กลัดกระดุมทองหรือ “กิ่มตู้น” แขนยาวปลายจีบที่ข้อมือ คาดเข็มขัดรอบเอวที่ทำจากโลหะมีค่า และถุงเงินถุงทอง บางท่านเหน็บกุญแจพวงใหญ่แสดงฐานะเจ้าของบ้านหรือเจ้าของกิจการใหญ่ ชุดคอตั้งแขนจีบเป็นที่นิยมตราบจนปัจจุบัน เพราะสวมใส่สบาย ไม่ร้อน และสง่างาม ไม่จำเป็นต้องเกล้าผมเช่นครุยยาว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองการติดต่อระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยและเมืองปีนังได้ขาดช่วงไประยะหนึ่ง หลังสงครามโลกราวปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาตามหลักสากลตะวันตก มีการรณรงค์สวมหมวกและเสื้อแบบฝรั่ง นุ่งผ้าถุง สตรีแถบอันดามันของไทยเปลี่ยนชุดแต่งงานเป็นชุดราตรีกระโปรงยาวแบบฝรั่ง เรียกว่า “ชุดบุ่นเบ๋ง” ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกระหว่างภาคใต้สู่กรุงเทพมหานครพัฒนาขึ้น สตรีอันดามันได้เลือกซื้อผ้าลูกไม้จากย่านสำเพ็ง แล้วนำไปเย็บต่อทั้งตัว รูปทรงยังคล้ายเสื้อเคบาย่า เกิดชุดที่มีวิวัฒนาการใหม่เรียกว่า “ชุดลูกไม้ต่อดอก” สวมใส่กับเสื้อชั้นในตัวใหญ่สีเดียวกัน ชายเสื้อเทียมเอว มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว ปัจจุบันยังเป็นที่นิยมสวมใส่ออกนอกบ้านของสตรีที่สูงอายุในแถบอันดามันของไทย
ความสำคัญของเคบาย่า ความนิยมและการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
เคบาย่าถือเป็นเสื้อที่กำเนิดจากวัฒนธรรมการแต่งกายร่วมกันของชาวยุโรป ชาวมุสลิม เพอรานากันจีนเพอรานากันอินเดียในคาบสมุทรมลายูและชาวภาคใต้กว่า ๓๐๐ปี เป็นการผสมผสานการออกแบบและดัดแปลงด้วยเทคนิคและทักษะเฉพาะของแต่ละชุมชน ทั้งชาวโปรตุเกส ชาวดัตช์ ชาวมุสลิม ชาวจีนและชาวเพอรานากัน แม้กำเนิดจากชุดครุยยาวแต่เมื่อเวลาผ่านไปได้เกิดวิวัฒนาการที่แตกต่างกันในรายละเอียดแต่ละพื้นที่ ทั้งที่เป็นชุดครุยท่อน ชุดเคบาย่าสั้น ลูกไม้ต่อดอกของไทย ปัจจุบันเคบาย่าได้รับการยกย่องว่าเป็นชุดทางวัฒนธรรมของหลายประเทศ ของชุมชนชาวเพอรานากันและชุมชนมุสลิม ประกอบด้วยความสวยงาม ความสง่า ความล้ำค่าในงานประดิษฐ์ของแต่ละท้องถิ่นที่สื่อถึงความเชื่อ ความเป็นมงคล ได้แก่ การประดับผ้าลูกไม้ การปักฉลุ ชุดกระดุมโกสัง ปิ่นประดับ สร้อยคอ เข็มขัดเอว รองเท้าปัก เป็นต้น ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมห้าประเทศที่ควรส่งเสริมให้สืบทอดสู่รุ่นลูกหลาน แต่ละชุมชนควรปกป้องอนุรักษ์ความรู้ เทคนิคฝีมือช่าง ธรรมเนียมและการปฏิบัติผ่านความร่วมมือของทั้งภาคประชาสังคมและสถาบันฝีมือช่าง และควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับอีกสี่ประเทศพี่น้องด้วยความสัมพันธ์อันดีงาม
ตารางแสดงชุดเคบาย่าชนิดต่างๆ
ประเภท |
โครงสร้าง |
เนื้อผ้า |
สี |
งานปัก |
เครื่องประดับและธรรมเนียม |
ชุดครุยยาว |
|||||
ชุดเจ้าสาวกู่ข้วน(๑) ๑.กู่ข้วน มาจากภาษาจีน “กู่” แปลว่า “เก่า” “ข้วน” แปลว่า “แบบ” จึงแปลว่า รูปแบบเก่า |
เสื้อคลุมยาวระดับน่องเหนือชายผ้าปาเตะประมาณ๑คืบ(๒) ไม่เข้ารูป คอรูปตัววี ไม่มีปก แขนยาวเรียวสอบจรดข้อมือ เปิดด้านหน้าไม่มีกระดุม สวมเสื้อตัวในเป็นเสื้อคอตั้ง
(๒)สมัยก่อนหายาก จึงเป็นชุดยืมใส่ขนาดจึงอาจไม่ลงตัวทีเดียว |
ผ้าแพรปักดิ้น ยุคแรก ผ้าแพรเนื้อหนา(ปังลิ้น) —————– ยุคต่อมา ผ้าต่วน ผ้าป่านรูเบีย(ออแกนดี้หรือ ผ้าเนื้อบาง) ผ้าซาติน |
สีมงคล ชมพูอ่อน เขียวไข่กา ———— สีมงคลแต่ไม่นิยมสีม่วง สีน้ำเงิน ส่วนสีแดงสมัยนั้นยังผลิตไม่ได้ |
(ตามฐานะ) มีทั้งปักและไม่ปัก (งานปักดิ้นทอง ลวดลายดอกไม้หรือสัตว์มงคล ประดับขนกระต่าย หรือปักเลื่อมให้เกิดความแวววาว) |
โก่สั้งแม่ลูก ปิ่นตั้ง เข็มกลัดเพชร สร้อยคอยาวหลายเส้นใส่ลดหลั่นลงมาตามลำดับ แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่นๆ ต่างหูระย้า กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ทรงผมชักอีโบย หั่วก๋วน(มงกุฎดอกไม้ไหว) ปิ่นปักผม (ในอดีตไม่นิยมใส่สร้อยหลั่นเต่ป๋ายไว้ด้านหน้าแต่จะใส่ไว้ด้านหลัง หลั่นเต่ป๋ายห้อยด้วยหั่วหนา) |
ครุยยาว (ตึ่งซ๊า หรือ Baju Panjang) |
เสื้อคลุมยาวระดับน่องเหนือชายผ้าปาเตะประมาณ๑คืบ ไม่เข้ารูป คอรูปตัววี ไม่มีปก แขนยาวเรียวสอบถึงข้อมือ เปิดด้านหน้าไม่มีกระดุม ส่วนใหญ่นิยมสวมเสื้อตัวในเป็นเสื้อคอตั้ง |
-ผ้าฝ้ายพิมพ์ลายจาก อินโดนีเซีย -ผ้าฝ้ายพื้น —————– -ผ้าฝ้ายลายสก๊อต -ผ้าแพร —————- -ผ้าป่านรูเบีย(ออแกนดี้หรือ ผ้าเนื้อบาง) |
แดงเลือดหมู น้ำตาลอิฐ ดำ ————- หลากสี |
————– ปักด้วยเส้นฝ้ายเป็นรูปสัตว์หรือดอกไม้เล็กๆ |
โก่สั้งแม่ลูก สร้อยคอ แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่น ต่างหูหัวชุม/หางหงส์ กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ทรงผมชักอีโบย มงกุฎลูกปัด หรือมาลัยดอกไม้(ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้) ปิ่นปักผม นิยมถือหรือเหน็บผ้าเช็ดหน้า |
ครุยสั้น (หรือ ครุยท่อน ) |
เสื้อคลุมยาวถึงสะโพกบน ไม่เข้ารูป คอรูปตัววี ไม่มีปก แขนยาวเรียวสอบถึงข้อมือ เปิดด้านหน้าไม่มีกระดุม มีชายผ้าสองแบบคือชายตรงหรือชายแหลมเล็กน้อย |
-ผ้าป่านรูเบีย(ออแกนดี้หรือ ผ้าเนื้อบาง) |
หลากสี |
เนื้อผ้ามีการปักลายในตัวด้วยเส้นฝ้ายเป็นรูปสัตว์หรือดอกไม้เล็กๆ |
โก่สั้งแม่ลูกหรือปิ่นตั้ง สร้อยคอ ต่างหูหัวชุม/ดอกพิกุล/หางหงส์ กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ทรงผมชักอีโบยหรือเกล้ามวยต่ำ มงกุฎลูกปัด หรือมาลัยดอกไม้(ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้) ปิ่นปักผม แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่นๆ เข็มขัดเงิน ทอง นาก กระเป๋าถักเงิน หรือทอง ผ้าเช็ดหน้า |
เสื้อคอตั้ง |
เสื้อยาวถึงสะโพกบน ผ่าหน้า เจาะรังกระดุมด้านหน้า ไม่เข้ารูป คอเสื้อสูงประมาณ ๕ เซนติเมตร มีกระเป๋าใบใหญ่สองข้าง มีแขนสองแบบคือ ๑.แขนจีบลักษณะเป็นแขนยาวจรดข้อมือรวบจีบ ๒.แขนทรงกระบอก |
-ผ้าฝ้าย -ผ้าป่านรูเบีย(ออแกนดี้หรือ ผ้าเนื้อบาง) |
หลากสี |
ชายเสื้อนิยมcutwork หรือประดับลูกไม้ |
สร้อยคอห้อยจี้ปิ่นตั้ง /จี้กิมตู้น/จี้หั่วหนา/จี้ทรงอื่นๆ กิมตู้น(กระดุมเหรียญทอง) หรือกระดุมอื่นๆ สร้อยข้อมือ แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่น ปิ่นปักผม ต่างหูหัวชุม/ดอกพิกุล/หางหงส์ เข็มขัดทอง เงิน นาก (ไม่นิยมติดเข็มกลัด) |
เสื้อคอกลม (เสื้ออาจ้อ) |
เสื้อคอกลมยาวถึงสะโพกบน ผ่าหน้า เจาะรังกระดุมด้านหน้า ไม่เข้ารูป แขนสามส่วน(คลุมถึงข้อศอก)หรือสี่ส่วน(เลยศอก) มีกระเป๋าใบใหญ่สองข้าง |
-ผ้าฝ้าย -ผ้าป่านรูเบีย(ออแกนดี้หรือ ผ้าเนื้อบาง) |
หลากสี |
บ้างประดับด้วยริบบิ้นลูกไม้ |
สร้อยคอห้อยจี้ กิมตู้น(กระดุมเหรียญทอง)หรือ กระดุมอื่นๆ สร้อยข้อมือ แหวน ปิ่นปักผม ต่างหู เข็มขัดทอง เงิน นาก (ในอดีตนิยมสำหรับสตรีสูงอายุ ปัจจุบันใส่ได้ทุกวัย) |
เคบาย่า (ปั่วตึ่งเต่/เสื้อย่าหยา) |
|||||
เคบาย่าลินดา (ลันด๊า) (Rendaภาษาสเปนแปลว่า ลูกไม้) |
เสื้อคอแหลมผ่าหน้าตลอดชายเสื้อด้านหน้าแหลม ด้านหลังคลุมสะโพกบน เสื้อขนานลำตัวไม่เข้ารูป แขนยาว |
-ผ้าป่านรูเบีย (ออแกนดี้หรือผ้าเนื้อบาง) -ผ้าต่วน -ผ้าแพร |
หลากสี |
ประดับชายเสื้อและปลายแขนด้วยริบบิ้นลูกไม้ |
โก่สั้งแม่ลูกหรือเข็มกลัดชุดสามตัว(โกสังหลั่นไต๋)รูปทรงต่างๆหรือปิ่นตั้ง สร้อยคอหรือหลั่นเต่ป๋าย ต่างหูหัวชุม/ดอกพิกุล/หางหงส์/ระย้า กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่น เข็มขัดทอง เงิน นาก |
เคบาย่าบีกู |
เสื้อคอแหลมผ่าหน้าตลอดชายเสื้อด้านหน้าแหลม ด้านหลังคลุมสะโพกบน เข้ารูป แขนยาว |
ผ้าป่านรูเบีย (ออแกนดี้หรือผ้าเนื้อบาง) |
หลากสี |
ริมชายเสื้อ สาบเสื้อและแขนปักฉลุเล็กๆ(cutwork) นิยมลายโค้งเว้า หรือลายหอยแครง |
เข็มกลัดชุดสามตัว(โก่สั้งหลั่นไต๋)รูปทรงต่างๆ ปิ่นตั้ง (ไม่นิยมใส่แม่ลูก) สร้อยคอหรือหลั่นเต่ป๋าย ต่างหูหัวชุม/ดอกพิกุล/หางหงส์/ระย้า กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่น เข็มขัดทอง เงิน นาก |
เคบาย่าซูแลม |
เสื้อคอแหลมผ่าหน้าตลอดชายเสื้อด้านหน้าแหลม ด้านหลังคลุมสะโพกบน เข้ารูป แขนยาวเรียว เข้ารูปทรง ด้านหลังและด้านหน้าต่างกันประมาณ๗นิ้ว |
ผ้าป่านรูเบีย (ออแกนดี้หรือผ้าเนื้อบาง) |
หลากสี |
ชายเสื้อ สาบเสื้อและปลายแขน ปักฉลุลวดลายที่วิจิตรซับซ้อน (นิยมปักลวดลายเป็นแนวสามเหลี่ยมบริเวณชายเสื้อด้านหน้าทั้งสองข้างและด้านหลัง) |
เข็มกลัดชุดสามตัว(โก่สั้งหลั่นไต๋)รูปทรงต่างๆ ปิ่นตั้ง สร้อยคอ หลั่นเต่ป๋าย ต่างหูหัวชุม/ดอกพิกุล/หางหงส์/ระย้า กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่นๆ เข็มขัดทอง เงิน นาก |
ลูกไม้ (ภาคใต้ประเทศไทยหลัง WWII) |
|||||
ลูกไม้ต่อดอก |
เสื้อคอวี คอสี่เหลี่ยมหรือคอกลมยาวระดับสะโพกบน แขนสั้นหรือสามส่วน เข้ารูป ตัวเสื้อผ่าหน้าติดกระดุมแป๊ก หรือเป็นเสื้อสวม ชุดนี้ขึ้นกับความแพงของลูกไม้จึงมีราคาแตกต่างกันมาก |
ผ้าลูกไม้ |
หลากสี |
เย็บด้วยมือใช้วิธีการสอยประกบดอกลูกไม้ ไม่มีตะเข็บ ไม่ใช้จักรเย็บผ้า |
สร้อยคอห้อยจี้ปิ่นตั้ง /จี้กิมตู้น/จี้หั่วหนา/จี้ทรงอื่นๆ สร้อยข้อมือ แหวนบาเย๊ะและแหวนทรงอื่น ดัดผมแบบสากล ต่างหูหัวชุม/หางหงส์ เข็มขัดทอง เงิน นาก |
บรรณานุกรม (Reference)
- William Gwee Thian Hock. A Baba Malay Dictionary. Tuttle Publishing. The Peranakan Association. Singapore, 2006
- Datin Seri Endon Mahmood. The Nyonya Kebaya : A Century of Straits Chinese Costume. Periplus. Singapore, 2004
- ฤดี ภูมิภูถาวร.การแต่งกายผู้หญิงบาบ๋าภูเก็ต.บริษัทเอสพริ้นท์ (2004) จำกัด.สมาคมเพอรานากัน.ภูเก็ต,2547
- Lillian Tong. Straits Chinese Gold Jewellery. Pinang Peranakan Mansion Sdn Bsd. Eastern Printers Sdn Bsd. Malaysia,2014
- Randall Ea. David A. Henkel. Heidi Tan. Peranakan Museum A-Z. Asian Civilization Museum for the Peranakan Museum. KHL Printing. Singapore,2008
- Linda Chee. Being Baba. Selected Articles from the Peranakan Museum. The Peranakan Association Singapore. Craft Print Pte Ltd. Singapore,2015